เนื่องจากปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ๆ
ออกมาวางจำหน่ายมากมาย ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ในประเทศเท่านั้น ผู้ประกอบการยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกหากันตามต้องการโดยแนวโน้มตลาดโลกก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีไม่น้อยกว่า
ร้อยละ 20 ต่อปี โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นสมุนไพรในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม,
เครื่องดื่มผสมสมุนไพร,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาจากสมุนไพร จึงเป็นเรื่องที่เภสัชกร
ซึ่งอยู่ในสถานะเป็นที่พึ่งแก่ประชาชน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
จากการสอบถามจากภาคผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ว่าควรเลือกใช้อย่างไร
ปลอดภัยหรือไม่ เก็บอย่างไรเป็นต้น เพราะฉะนั้นเภสัชกรควรเรียนรู้เรื่องราวของสมุนไพรเพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้องก่อนใช้ยาสมุนไพรและยาแผนโบราณ
ขั้นแรกการใช้สมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐานรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นนั้นเป็นสิ่งที่ปลอดภัย
โดยมีอาการที่พบได้บ่อยๆได้แก่ ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ท้องเสีย
(แบบไม่รุนแรง) พยาธิลำไส้ บิด คลื่นไส้ อาเจียน ไอ ขับเสมหะ ไข้ ขัดเบา โรคกลาก
โรคเกลื้อน อาการนอนไม่หลับ ฝีแผลพุพอง (ภายนอก) อาการเคล็ดขัดยอก (ภายนอก)
อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เหา และชันตุ
อาการเหล่านี้หากดีขึ้นแล้วก็หยุดยาได้ แต่หากคนไข้ไม่ดีขึ้นใน 2-3
วันก็ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
แต่หากผู้ป่วยโรคร้ายแรง
โรคเรื้อรัง หรือเป็คโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น
งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก โรคตาทุกชนิด ก็ไม่ควรใช้สมุนไพร นอกจากนี้อาการที่เข้าข่ายมีความเจ็บป่วยรุนแรง
ก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่น อาเจียนหรือไอเป็นเลือด , ไข้สูงและดีซ่าน อ่อนเพลีย,
ท้องเดินอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำ
การใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องนั้นเบื้องต้นควรคำนึงถึง
ชนิดของต้นไม้(ถูกต้น), ส่วนที่จะใช้(ถูกส่วน), ปริมาณที่จะใช้(ถูกขนาด), ถูกวิธี
และถูกโรค แม้ว่าผู้ประกอบการได้ทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกมาในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้ เช่น ทำเป็นยาลูกกลอน หรือ บรรจุแคปซูล
ผู้ใช้ก็ควรคำนึงถึงหลักการเหล่านี้อยู่เสมอ
สมุนไพรก็คล้ายกับยาแผนปัจจุบันที่มีทั้งประโยชน์และโทษ
ยังสามารถพบได้ทั้งผลข้างเคียงจากยาและอาการแพ้ยาได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน
ซึ่งมีอาการแพ้ยามีดังนี้
- ผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโต
เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบนคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปากเจ่อ
(ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง)
ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจเป็นเพราะโรค
- หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
- ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ
ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ เป็นต้น
- ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองและเมื่อเขย่า จะเกิดฟองสีเหลือง
อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรงต้องไปหาแพทย์
ผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้ยาสมุนไพรก็มีเช่นกัน
เช่น ฟ้าทะลายโจรก็อาจทำให้ท้องเสียได้ หรือมะขามแขกที่มีสรรพคุณเป็นยาระบาย
ในคนไข้บางรายก็อาจทำให้มีการปวดท้อง หรือเถาวัลย์เปรียงก็อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
, ขมิ้นชัน มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดตันและผู้ป่วยนิ่ว
นอกจากอาการแพ้ยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอก่อนการใช้ยาสมุนไพร คือเรื่อง Drug interaction กับยาแผนปัจจุบัน สำหรับสมุนไพรไทยข้อมูลทางด้านนี้ยังไม่มากนัก
แต่ก็มีความพยายามในหลายๆภาคส่วนได้ทำการรวบรวมไว้พอสมควร เช่น กระเทียม (Allium
sativum) ทำให้ยาต้านเชื้อ HIV กลุ่ม protease
inhibitor มีระดับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ , ชะเอม (Glycyrrhiza
glabra) สามารถไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ได้ และทำให้ระดับยา prednisolone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและการกำจัดยาออกจากร่างกาย (clearance) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, มะขามแขก ในกรณีของการใช้ติดต่อกันนานหรือการใช้ผิดวัตถุประสงค์จะทําให้ร่างกายเกิดการสูญเสีย potassium จึงมีผลต่อการใช้ยา Cardiac glycoside และยาที่ใช้รักษา anti-arrhythmia, Thiazide
diuretics, Corticoadrenal steroids และ Licorice root เป็นต้น
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
สื่อที่รวดเร็วและเข้าถึงง่ายที่สุดคืออินเตอร์เน็ต โดยมี Website เกี่ยวกับสมุนไพรและยาแผนโบราณที่อยากจะแนะนำ
เช่น www.rspg.or.th , www.medplant.mahidol.ac.th , http://herbal.pharmacy.psu.ac.th , www.ittm.or.th เป็นต้น หรือตาม database ต่างๆก็มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน
เช่น Pubmed, Springer link, Wiley online library, Sciencedirect สำหรับข้อมูลไม่ Online ก็จะมีหนังสือหลากหลายเล่มเกี่ยวกับสมุนไพร เช่น หนังสือคู่มือการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถใช้ได้บ่อยเช่นกัน
สุดท้ายเรื่องการตรวจสอบทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆเบื้องต้นสามารถทำได้โดยทาง Online ที่ www.fda.moph.go.th หรือติดต่อโดยตรงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
แผนก one stop services ก็เป็นช่องทางที่สะดวกเช่นเดียวกัน
No comments:
Post a Comment