ในทุกๆวันกระผมจะได้รับโทรศัพท์จากทางบ้านสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ
ภาวะไขมันพอกตับ วันละ3-4 ราย ประเมินได้ว่าประชาชนน่าจะมีปัญหานี้กันเยอะ
จึงอยากนำข้อมูลเรื่องนี้มาบอกกล่าวให้ทุกท่านได้อ่านกันในฉบับนี้ครับ
ภาวะไขมันพอกตับ
หมายถึงภาวะที่มีการสะสมของไขมัน
ไม่ได้หมายถึงพอกอยู่รอบๆตามชื่อเรียกเท่านั้นแต่ไขมันจะแทรกอยู่ในตับ(ระดับเซลล์)
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride โดยที่คนๆนั้นไม่ได้ดื่มสุรา ทางการแพทย์เรียกว่า Non-Alcoholic
Fatty Liver Disease (NAFLD) จะทำให้ตับทำงานผิดปกติ
ตับอักเสบและอาจพัฒนาเป็นตับแข็งในที่สุด
ในประเทศไทยก็จะพบภาวะนี้ได้มากขึ้นตามโรคเบาหวาน
ความดันโลหิตสูงและไขมันในโลหิตสูง โดยจะพบมากในช่วงวัยกลางคน คือ อายุ 45-60 ปี
อย่างไรก็ตามภาวะไขมันพอกตับจะเป็นภาวะที่มีการดำเนินของโรคช้าๆ
เป็น 10 ปี เริ่มตั้งแต่ระยะที่ 1 พัฒนาไประยะที่ 2 ถึงระยะที่ 4
ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย แต่ในระหว่างนั้นก็จะมีอาการอื่นๆตามมา อย่างเช่น ตัวเหลือง
ตาเหลือง อ่อนเพลีย โดยส่วนใหญ่คนไข้จะถูกตรวจพบจากค่าเลือด ค่าเอนไซม์ตับ
เมื่อเวลาคนไข้มาตรวจสุขภาพประจำปี เพราะในระยะแรกๆแทบจะไม่มีอาการแสดงเลย
การรักษาในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาหารเป็นหลัก
โดยมีการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of
Obesity ซึ่งทำในประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาการลดไขมันที่ตับโดยการจำกัดปริมาณแคลอรี่อย่างเดียวเปรียบเทียบกับการจำกัดแคลอรี่ร่วมกับการออกกำลัง
ซึ่งนักวิจัยจะให้อาสาสมัครรับประทานอาหาร 25 kcal/kg และอีกกลุ่มจะให้รับประทานอาหาร
25 kcal/kg ร่วมกับการออกกำลังกาย 300 นาที/สัปดาห์
ระยะเวลาการศึกษาคือ 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่า ทั้งสองกลุ่มน้ำหนักตัวลดลง,
มวลไขมันลดลง, ไขมันตามแขนและขาลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม
ส่วนไขมันที่ตับมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทั้งสองกลุ่ม
แต่ไม่แตกต่างกันเมื่อเทียบระหว่างกลุ่ม โดยสรุปแล้วนักวิจัยได้สรุปว่าการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายมีผลในการลดไขมันที่ตับได้และยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดได้
แต่การเพิ่มการออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหารไม่มีผลต่อไขมันที่ตับและค่าเอนไซม์ตับแต่อย่างใด
นอกจากการควบคุมอาหารแล้วปัจจัยหนึ่งที่ยังคงมีผลต่อตับโดยตรงเลยคือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์
ผู้ที่มีไขมันพอกตับแล้วควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์โดยเด็ดขาด
เพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเป็นโรคตับแข็งในเวลาต่อมา
โดยสรุปแล้วการดูแลภาวะไขมันพอกตับ(ในกรณีที่ไม่มีอาการตับอักเสบ) นั้น
ไม่ยากเลยเนื่องจากใช้แค่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร,การควบคุมน้ำหนัก
ลดอาหารไขมัน อาหารหวาน ควบคุมปริมาณแป้งที่รับประทานไม่ให้มากเกินไป
เพียงเท่านี้ก็สามารถลดไขมันพอกตับได้แล้วครับ
No comments:
Post a Comment