ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ
Menopause Academic
Conference 2015 โดยสมาคมวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย โดยมีหัวข้อที่เป็นเรื่องราวของ
“สมุนไพรไทยทศวรรษใหม่ของการรักษาและส่งเสริมสุขภาพสตรีไทย” ซึ่งบรรยายโดย รศ.ภญ.พร้อมจิต ศรลัมพ์
ได้กล่าวถึงสมุนไพรตำรับที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของสตรีหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ
ยาตำรับประสะไพล
ยาตำรับประสะไพล ถูกประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2556 กลุ่มบัญชียาจากสมุนไพร ในหัวข้อยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ใช้รักษาอาการระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ, บรรเทาอาการปวดประจำเดือน, ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร
ในตำรับนี้สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบหลักคือ
เหง้าไพล ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นผลิตภัณฑ์ใช้สำหรับภายนอก เช่นน้ำมันไพล
หรือครีมไพล แก้ปวดเมื่อย นอกจากจะมีสรรพคุณลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าไพลสามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูก
ลำไส้และกระเพาะอาหารได้
นอกจากสมุนไพรหลักแล้ว
สมุนไพรที่ประกอบในตำรับก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น พริกไทย (Piper nigrum)
จากการวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ลดการบีบตัวของมดลูก ในสัตว์ทดลอง หรือ สาร Curcuminoids ในขมิ้นอ้อย ก็มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้และมดลูกเช่นเดียวกัน
กรณีปวดประจำเดือน ในกรณีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ ให้รับประทานยา
ก่อนมีประจำเดือน 2 - 3 วันไปจนถึงวันแรกและวันที่สองที่มีประจำเดือน โดยรับประทานครั้งละ 1 กรัม (แคปซูล 500mg จำนวน 2 แคปซูล) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
สำหรับวิธีใช้ ในกรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ
ให้รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง
ก่อนอาหาร เป็นเวลา 3 - 5 วัน เมื่อระดูมา ให้หยุดรับประทาน
กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร
รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ให้รับประทานจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด แต่ไม่เกิน 15 วัน
ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด
หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้ นอกจากนี้ยังห้ามรับประทานในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ
เพราะจะทำให้มีการขับระดูออกมามากขึ้น
ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของ ตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
No comments:
Post a Comment